กำแพงเจ็ดชั้น ๒

Salacia chinensis L.

ชื่ออื่น ๆ
ตะลุ่มนก (ราชบุรี); ตาไก้ (พิษณุโลก, นครราชสีมา); น้ำนอง, มะต่อมไก่ (เหนือ); หลุมนก (ใต้)
ไม้พุ่มรอเลื้อย ใบเรียงตรงข้าม ดอกออกรวมเป็นกลุ่ม ตามง่ามใบ สีเขียวอมเหลืองหรือเหลือง จานฐานดอกเป็นวง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปกลมหรือรี สุกสีแดงหรือแดงอมส้ม

 กำแพงเจ็ดชั้นชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๒-๖ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบขอบหยักหยาบ ๆ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๕ ซม.

 ดอกออกเป็นกลุ่มหรือเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ก้านดอก ยาว ๕-๘ มม. โคนก้านดอกมีใบประดับเล็ก ๆ ๒-๓ ใบ ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลืองหรือเหลือง กลีบเลี้ยงเล็กมาก โคนติดกันคล้ายจาน ขอบหยัก ๕ หยัก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่ป้อม กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๓-๔ มม. เกสรเพศผู้เล็กมาก มี ๓ อัน จานฐานดอกเล็กเป็นวง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ขนาดเล็กมาก รูปสามเหลี่ยม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมหรือรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ผลสุกสีแดงหรือแดงอมส้ม มี ๑ เมล็ด ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม.

 กำแพงเจ็ดชั้นชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ตามริมแหล่งน้ำหรือที่โล่ง บนพื้นที่ระดับต่ำไปจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย พม่า ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ผลกินได้ในฟิลิปปินส์ใช้รากเข้ายาแผนโบราณเพื่อบำบัดอาการปวดประจำเดือนหรืออาการประจำเดือนผิดปรกติ (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำแพงเจ็ดชั้น ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Salacia chinensis L.
ชื่ออื่น ๆ
ตะลุ่มนก (ราชบุรี); ตาไก้ (พิษณุโลก, นครราชสีมา); น้ำนอง, มะต่อมไก่ (เหนือ); หลุมนก (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์